โครงสร้างของระบบประสาท
คลื่อนที่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง.............. ระบบประสาทเป็นระบบที่ควบคุมการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ของทุกระบบในร่างกายให้ทำงานประสานกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกร่างกายให้บุคคลมีพฤติกรรมและดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ นอกจากนั้นระบบประสาทยังเป็นแหล่งที่มาของความคิดความจำ ความรู้สึก สติปัญญา ความฉลาด ไหวพริบ ปฏิภาณ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล การแสดง อารมณ์และการสื่อสัมผัสต่างๆ
โครงสร้างของระบบประสาท
.............. ระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้
1. ระบบประสาทส่วนกลาง ( Central nervous system ) ประกอบด้วยสมอง ( brain ) และไขสันหลัง ( spinal cord )
2. ระบบประสาทส่วนปลาย ( Peripheral nervous system ) ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง ( Cranial nerve ) ที่ออกจากส่วนต่างๆ ของสมองมี 12 คู่ และเส้นประสาทไขสันหลัง ( Spinal nerve ) ที่ออกจากไขสันหลังระดับต่างๆมี 31 คู่
3. ระบบประสาทอัตโนมัติ ( Autonomic nervous system ) เป็นระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ซึ่งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติอยู่นอกเหนือการบังคับของจิตใจ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ระบบประสาทซิมพาเตติก ( sympathetic ) และระบบประสาทพาราซิมพาเตติก ( parasympathetic )
เซลล์ประสาท ( nerve cells หรือ neurons )
.............. เซลล์ประสาทเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุด และเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ของระบบประสาทมีรูปร่างสลับซับซ้อนกว่าเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย คือ ประกอบด้วยตัวเซลล์ ( cell body ) ภายในมี นิวเคลียส ( nucleus ) และโปรโตปลาสซึม ( protoplasm ) สำหรับโปรโตปลาสซึมของเซลล์ประสาทจะ ยื่นออกไปจากเซลล์เรียกว่า แขนง ( process ) ซึ่งมี 2 ชนิด ดังนี้
1. เดนไดรท์ ( dendrite ) เป็นแขนงของเซลล์ประสาทซึ่งนำสัญญาณประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์
2. แอ็คซอน ( axon ) เป็นแขนงของเซลล์ประสาทซึ่งนำสัญญาณประสาทออกจากเซลล์ประสาทนั้นๆ
.............. เซลล์ประสาทชนิดนี้จึงทำหน้าที่เฉพาะในการนำสัญญาณประสาท ( nerve conduction )
.............. สำหรับเซลล์ค้ำจุนระบบประสาท ( neuroglial cells หรือ glial cells ) เซลล์ชนิดนี้มีหลายลักษณะ มีรูปร่างและขนาดต่างกันเช่นเดียวกับชนิดแรก เซลล์พวกนี้จะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อของระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำหน้าที่สำคัญคือ ค้ำจุนระบบประสาทส่วนกลาง นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ประสาท ขับถ่ายของเสียออกจากเซลล์ประสาทและเป็นทำนบกั้น ( blood brain barrier ) ไม่ให้สารเคมีหรือเชื้อโรคบางชนิดเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง สามารถแบ่งตามชนิดที่พบบ่อย เป็น 4 ชนิด ดังนี้
1. Astroglia ( astrocytes ) เป็นเซลล์ชนิดที่พบมากที่สุดในระบบประสาทส่วนกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะคล้ายรูปดาว และมีแขนงมากมาย แขนงนี้ไปติดกับหลอดเลือด เรียกว่า perivascular feet ( end feet ) จะทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารเข้าสู่เซลล์ และเซลล์ชนิดนี้ยังช่วยค้ำจุนระบบประสาทส่วนกลางและนำอาหารมาเลี้ยงเซลล์ประสาท
2. Oligodendoglia ( oligodendocytes ) เป็นเซลล์ขนาดเล็กมีแขนงขนาดสั้น 2-3 แขนง ทำหน้าที่ในการนำอาหารมาเลี้ยงเซลล์ประสาท และสร้างปลอกไมอิลิน ( myelin )
3. Microglia ( microcytes ) เป็นเซลล์ขนาดเล็ก นิวเคลียสใหญ่ มีแขนงขนาดสั้น 2-3 แขนง ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม ( phagocytosis ) ภายในระบบประสาทส่วนกลาง
4. Ependymal cell เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมหรือคล้ายแท่ง ดาดอยู่ตามผนังเวนตริเคิล ( Ventricles ) ในสมองและผนังของช่องกลาง
( central canal ) ของไขสันหลังทำหน้าที่ในการสร้างและดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
เนื้อเยื่อประสาท ( nervous tissue )
.............. เนื้อเยื่อประสาทประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมากรวมตัวกัน มีรูปร่างและขนาดต่างๆกัน เซลล์ประสาทจะมีการแบ่งตัวอย่างมากมาย ในระยะที่กำลังเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาและเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว เซลล์ประสาทจะหยุดแบ่งตัวและจะคงดำรงชีวิตหากไม่มีโรคหรืออันตรายตราบเท่าที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู เนื้อเยื่อประสาทแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆดังนี้
1. ส่วนที่มีสีเทาหรือสีค่อนข้างเข้ม ( gray matter ) จะมีตัวเซลล์ ( cell body ) ของเซลล์ สมองและที่ส่วนแกนของไขสันหลัง
2. ส่วนที่มีสีขาวหรือสีจาง ( white matter ) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อประสาทที่มีปลอกไมอิลิน ( myelinated sheath ) ห่อหุ้ม ซึ่งเป็นส่วนของใยประสาท
( nerve fiber ) เนื้อเยื่อส่วนนี้พบบริเวณถัดเข้ามาจากส่วนที่มีสีเทาของเนื้อสมอง และที่ส่วนนอกของไขสันหลัง จำนวนที่มากนี้จึงสามารถช่วยนำ กระแสประสาทได้เร็วขึ้น
เส้นประสาท ( nerve )
.............. เส้นประสาทคือ ใยประสาทหลายชั้นรวมกันเข้าเป็นมัด และห่อหุ้มไว้ด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ( connective tissue ) เส้นประสาทที่นำคำสั่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะและเนื้อเยื่อเรียกว่า motor nerve ส่วนเส้นประสาทที่นำกระแสประสาทรับความรู้สึกต่างๆ เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางเรียกว่า sensory nerve เส้นประสาทนี้จะพบอยู่ภายนอกระบบประสาทส่วนกลาง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. เส้นประสาทสมอง ( cranial nerve ) มีจำนวน 12 คู่
2. เส้นประสาทไขสันหลัง ( spinal nerve ) มีจำนวน 31 คู่
ปมประสาท ( ganglia )
.............. ปมประสาทเป็นกลุ่มของเซลล์ประสาทที่อยู่นอกระบบประสาทส่วนกลาง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. ปมประสาทรับความรู้สึก ( sensory ganglia ) เป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาทที่นำกระแสประสาทของความรู้สึกต่างๆ เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง เซลล์ประสาทพวกนี้ เรียก sensory neurons ( afferent ) ปมประสาทรับความรู้สึกในระดับไขสันหลัง คือ dorsal root ganglia
2. ปมประสาทอัตโนมัติ ( autonomic ganglia ) เป็นที่อยู่ของ efferent neurons ของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ปมประสาทซิมพาเตติก และปมประสาทพาราซิมพาเตติก
ใยประสาท ( nerve fiber )
.............. ใยประสาท หมายถึง แอ็คซอนหรือเดนไดรท์ของเซลล์ประสาท ทำหน้าที่นำกระแสประสาทของความรู้สึกเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง เรียก afferent
( sensory ) nerve fiber และนำกระแสประสาทออกจากระบบประสาทส่วนกลาง เรียกว่า efferent ( motor ) nerve fiber ใยประสาทมี 2 ชนิด
1. ใยประสาทที่มีปลอกหุ้ม ( myelinated nerve fiber ) ชนิดนี้มีไมอิลิน ( myelin ) ห่อหุ้ม ประกอบขึ้นเป็น white matter ของระบบประสาทส่วนกลาง นำกระแสประสาทได้รวดเร็วมากเพราะกระแสประสาทถูกนำแบบกระโดดจาก node of Ranvier หนึ่งไปยัง node ถัดไป เรียกการนำกระแสประสาทแบบนี้ว่า saltatory conduction
2. ใยประสาทที่ไม่มีปลอกหุ้ม ( non-myelinated nerve fiber ) ชนิดนี้จะไม่มีไมอิลินห่อหุ้ม ประกอบขึ้นเป็น gray matter ของระบบประสาทส่วนกลาง
ปลายประสาท ( nerve endings )
.............. ปลายประสาทคือ ส่วนปลายสุดของใยประสาท มีลักษณะเป็นปุ่มเล็ก ๆ คล้ายกระดุมใยประสาทแต่ละใยจะมีปลายประสาทหลายอัน ภายในปลายประสาทจะมีถุงเล็กๆ มากมายที่บรรจุสารเคมี ( neurotransmitters ) ซึ่งมีความสำคัญมากในการถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่ถูกควบคุมด้วยใยกระแสประสาทนั้นๆ หรือมีความสำคัญในการถ่ายทอดกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่ง ประกอบด้วย
1. Sensory nerve ending อยู่ที่ปลายของเส้นใยประสาทซึ่งนำสัญญาณประสาทเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ( afferent nerve fibers ) เช่น
free nerve endings , paciniancorpuscle เป็นต้น
2. Motor nerve endings อยู่ที่ปลายของเส้นใยประสาทซึ่งนำสัญญาณประสาทออกจากระบบประสาทส่วนกลาง ( efferent nerve fibers ) เช่น motor end plates , motor ending ที่กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจ
ระบบประสาทส่วนกลาง
( central nervous system )
.............. ระบบประสาทส่วนกลางประกอบด้วยสมอง ( brain ) ซึ่งอยู่ภายในโพรงกระโหลกศีรษะ ( cranial cavity ) และไขสันหลัง ( spinal cord ) ซึ่งอยู่ภายในช่องกระดูกสันหลัง ( vertebral canal )
สมองใหญ่ หรือ เซเรบรัม ( cerebrum )
.............. สมองใหญ่เป็นส่วนของสมองที่เจริญมากที่สุดแบ่งเป็น 2 ซีก ซ้ายและขวา(cerebral hemispheres) โดยฟอลซ์ เซเรไบร ( falx cerebri ) ชั้นผิวของสมองใหญ่เรียกว่า cerebral cortex มีสีเทา ( gray matter ) ส่วนเนื้อเยื่อสมองชั้นในเรียกว่า เมดัลลา ( medullary center ) มีสีค่อนข้างขาว
( white matter ) ประกอบด้วยใยประสาทและมีกลุ่มของเซลล์ประสาทฝังตัวอยู่มากมาย ผิวของสมองมีลักษณะเป็นลอนเป็นคลื่น สมองใหญ่แต่ละซีกแบ่งเป็นกลีบ คือ กลีบหน้า ( frontal lobe ) กลีบบน ( parietal lobe ) กลีบข้าง ( temporal lobe ) กลีบหลัง ( occipital lobe ) และ insular lobe
cerebral cortex หรือส่วนเนื้อเยื่อสีเทาของสมองใหญ่มีความหนา 6 มิลลิเมตรประกอบไปด้วย cell body มากกว่า 5 หมื่นล้านเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่สำคัญต่างๆ ตามบริเวณที่จำแนกดังนี้
1. Motor area เป็นบริเวณที่อยู่ส่วนหน้าของ central sulcus และครึ่งหลังของ frontal lobe แบ่งเป็นส่วนของ motor cortex , premotor cortex และ Broca' s area ซึ่งจะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่ละเอียดอ่อน ได้แก่ การทำงานของนิ้วมือ การพูด การรับประทาน เป็นต้น
2. Somesthetic sensory area คือบริเวณของ parietal lobe ทั้งหมด แบ่งเป็น primary area และ secondary area โดยที่ส่วน primary area จะรับสัญญาณเกี่ยวกับความรู้สึกโดยตรงจาก sensory receptor ทั่วร่างกาย เช่น สัมผัส แรงกด อุณหภูมิ และความเจ็บปวด ส่วน secondary area จะแปลสัญญาณความรู้สึกนั้นว่า มือกำลังสัมผัสกับโต๊ะ เก้าอี้หรือลูกบอล
3. Visual area คือบริเวณของ occipital lobe ทั้งหมด แบ่งเป็น primary vision area และ secondary vision area โดยที่ส่วน primary vision area จะรับแสงสว่างรับภาพที่เห็น เข้าสู่ลานสายตาและ secondary vision area จะแปลความหมายของภาพที่รับนั้น
4. Audiotory area คือบริเวณครึ่งบนซีกหน้าของ temporal lobe แบ่งเป็น primary area และ secondary area โดยที่ส่วน primary area จะรับความดัง และความถี่และคุณภาพของเสียงและ secondary area จะแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน
5. Wernicke's area คือบริเวณส่วนหลังซีกบนของ temporal lobe ข้างซ้ายโดยจะอยู่ติดกับ occipital lobe และ parietal lobe จึงได้รับสัญญาณเกี่ยวกับความรู้สึกจากสมองทั้งสามกลีบที่อยู่ล้อมรอบ ส่วนนี้มีความสำคัญในการแปลความจากการอ่าน การได้ยิน การรู้สึก ไปเป็นการรับรู้ในคนที่มีสมองส่วนนี้ไม่เจริญจึงไม่สามารถคิดหรือพิจารณาด้วยเหตุผล ( thinking ability ) ได้
6. Short-term memory area of the temporal lobe จะอยู่บริเวณครึ่งล่างของ temporal lobe มีความสำคัญในการจำในระยะสั้น เช่น เป็นนาทีหรือเป็นสัปดาห์
7. Prefrontal area อยู่บริเวณครึ่งหน้าของ frontal lobe การอธิบายหน้าที่ของส่วนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจน แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความนึกคิด สำหรับในคนที่ไม่มีสมองส่วนนี้พบว่าจะไม่มีสมาธิต่อการทำงานที่ใช้เวลานานและไม่สามารถวางแผนอนาคตหรือแก้ปัญหาที่ยาก
แกนสมอง ( brain stem )
.............. เป็นแกนกลางของสมองทั้งหมดที่ต่อขึ้นมาจากไขสันหลัง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ เรียงลำดับจากล่างสุดขึ้นบน คือ เมดัลลา ( medulla )
พอนส์ ( pons ) สมองส่วนกลาง ( midbrain หรือ mesencephalon ) และ ไดเอนเซฟาลอน ( diencepholon ) ในแต่ละส่วนของแกนสมอง
จะมีวงจรของเซลล์ประสาทมากมาย มีกลุ่มเซลล์ของเส้นประสาทที่ออกจากสมองส่วนต่างๆ มีเส้นทางกระแสประสาท ( nerve tract ) จำนวนมากทั้งที่ทอดขึ้นจากไขสันหลังสู่ทาลามัส ( thalamus ) และลงจาก cerebral cortex สู่ไขสันหลังและภายในแกนสมองมีศูนย์ควบคุมการทำงาน ของร่างกายที่สำคัญๆ หลายอย่าง เช่น การหายใจ ความดันเลือดแดง สมดุลของร่างกาย วงจรการหลับการตื่น เป็นต้น
.............. นอกจากนั้นแกนสมองยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างสมองใหญ่และสมองเล็ก และระหว่างสมองเล็กกับไขสันหลัง
สมองเล็กหรือเซเรเบลลัม ( cerebellum )
.............. สมองเล็กอยู่ในแอ่งกระโหลกส่วนหลัง ( posterior cranial fossa ) โดยมีเทนทอเรียม เซเรเบลไล ( temrorium cerebelli ) เป็นเยื่อกั้นแยกจากสมองใหญ่ สมองเล็กมี 2 ซีก ซ้ายและขวา โดยมีฟอลซ์ เซเรเบลไล ( Falx cerebelli ) เป็นเยื่อกั้น
.............. สมองเล็กส่วนที่รับข่าวสารหรือข้อมูลคือ cerebellar cortex จะคลุม cerebellar ganglia , ไขสันหลังและกล้ามเนื้อส่วนปลาย มารวมกัน เพื่อช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออย่างประสานกัน นอกจากนั้นส่วนกลางระหว่างสมองเล็กสองซีกซึ่งเรียกว่า vermis ยังทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูล ที่รับรู้และเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิม รวมทั้งการเคลื่อนไหวภายใต้จิตสำนึกควบคุมการทำงานของแกนสมอง ( brain stem ) และไขสันหลังสัมพันธ์กัน
ไขสันหลัง ( spinal cord )
.............. ไขสันหลังมีจุดเริ่มต้นจากส่วนปลายของเมดัลลา ( medulla ) จนถึงกระดูกไขสันหลังส่วนเอวที่ 1 และ 2 ความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยเยื่อหุ้ม ( meniges ) 3 ชั้น คือ เยื่อดูรา ( dura mater ) อยู่นอกสุด เยื่ออแรคนอยด์ ( arachnoid mater ) และเยื่อเพีย ( pia mater ) อยู่ชั้นในสุดติดกับเนื้อเยื่อสีขาว ( white matter ) ของไขสันหลังซึ่งประกอบด้วยเส้นใยประสาทผ่านขึ้นลงตามแกนยาวของไขสันหลัง ส่วนชั้นในของไขสันหลังจะเป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาทเรียกว่า เนื้อเยื่อสีเทา ( gray matter ) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายผีเสื้อหรือรูป " H " ไขสันหลังมีบทบาท เป็นศูนย์กลางของรีเฟล็กซ์ต่างๆ และเป็นทางผ่านสำหรับนำกระแสความรู้สึกต่างๆ ส่งต่อไปยังสมอง และนำคำสั่งจากสมองลงมายังเซลล์ประสาทสั่งการฅ ( motor neurons ) ในไขสันหลัง
สิ่งที่ปกคลุมสมองและไขสันหลัง ( coverings of the brain and spinal cord )
.............. เนื่องจากสมองและไขสันหลังเป็นเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม จึงต้องมีสิ่งห่อหุ้มหรือปกคลุมที่แข็งแรง ได้แก่ หนังศีรษะ ( scalp ) กะโหลก ( skull ) หรือ กระดูกไขสันหลัง ( vertebral column ) เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ( meninges ) และน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ( cerebrospinal fluid )
หนังศีรษะ ( scalp ) เป็นชั้นที่ปกคลุมนอกสุดของศีรษะ แบ่งออกเป็น 5 ชั้น ตามลำดับดังนี้ skin เป็นชั้นนอกสุด connective tissue เป็นชั้นถัดจากผิดหนัง มีหลอดเลือดเลี้ยงมาก ต่อไปเป็นชั้น Aponeurosis เป็นแผ่นเอ็นบางๆ และมี Loose areolar tissue เป็นชั้นที่มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเรียงตัวกันอย่างหลวมๆ และปิดท้ายด้วย Pericranium เป็นเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ
กะโหลกศีรษะ ( skull )
.............. ประกอบด้วยกระดูก 8 ชิ้น ดังนี้
1. กระดูกหน้าผาก ( frontal bone ) 1 ชิ้น เป็นกระดูกชิ้นใหญ่ส่วนหน้า
2. กระดูกท้ายทอย ( occipital bone ) 1 ชิ้น เป็นกระดูกชิ้นใหญ่ส่วนหลัง
3. กระดูกสพีนอยด์ ( sphenoid bone ) 1 ชิ้น เป็นรูปลิ่มมีลักษณะพิเศษคือมีส่วนของ body , lessor wing , pterygoid process และ sella turcica ซึ่งประกอบกันเป็นฐานของกะโหลกศีรษะ ( base of skull )
4. กระดูกเอ็ทมอยด์ ( ethmoid bone ) 1 ชิ้น ส่วนใหญ่ขรุขระทั้งผิวด้านนอกและด้านใน เป็นส่วนฐานของกะโหลกศีรษะที่ถัดขึ้นไปจากกระดูกสฟีนอยด์
5. กระดูกด้านข้าง ( temporal bone ) 2 ชิ้น อยู่ส่วนข้างและเป็นฐานของกะโหลกประกอบด้วย 3 ส่วนคือ squamous , mastoid และ petous มีลักษณะขรุขระทั้งผิวด้านนอกและผิวด้านใน
6. กระดูกด้านบน ( parietal bone ) 2 ชิ้น อยู่ส่วนบนและด้านข้างของกะโหลก ผิวด้านนอกจะเรียบและมีความโค้ง ส่วนผิวด้านในจะเว้าและเรียบ
กระดูกสันหลัง ( vertebral column )
.............. ประกอบด้วยกระดูก 33 ชิ้น ได้แก่
1. กระดูกสันหลังส่วนคอ ( cervical ) 7 ชิ้น
2. กระดูกสันหลังส่วนอก ( thoracic ) 12 ชิ้น
3. กระดูกสันหลังส่วนเอว ( lumbar ) 5 ชิ้น
4. กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ ( sacrum ) 5 ชิ้นเชื่อมติดกัน
5. กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ ( coccyx ) 4 ชิ้นเชื่อมติดต่อกัน
.............. กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะต่อเชื่อมกันโดยมีหมอนรองกระดูก ( intervertebral disc ) กั้นอยู่ และภายในกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีช่องว่างอยู่ตรงกลาง ( vertebral foramen ) ซึ่งเป็นทางผ่านของไขสันหลัง โดยมีประสาทไขสันหลัง 31 คู่แตกแขนงออกมาจากด้านซ้ายและขวาระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น สำหรับประสาทไขสันหลังคู่แรกจะตั้งต้นเหนือกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นที่ 1
เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ( meninges )
เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังจะเป็นชั้นที่ถัดจากกระโหลกศีรษะหรือกระดูกสันหลัง ก่อนที่จะถึงเนื้อสมองหรือไขสันหลัง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน 3 ชั้น
1. เยื่อดูรา ( dura mater ) เป็นเยื่อหุ้มสมองที่อยู่ชั้นนอกสุด มีสีขาวไม่สามารถยืดได้ มีความหนากว่าเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังชั้นอื่นๆ
2. เยื่ออแรคนอยด์ ( arachnoid mater ) เป็นเยื่อหุ้มสมองชั้นถัดลงไป มีความบางมากและคลุมเนื้อสมองอย่างหลวมๆ แยกจากเยื่อดูราอย่างชัดเจน
3. เยื่อเพีย ( pia mater ) เป็นเยื่อชั้นในสุดที่แนบติดกับเนื้อสมองส่วนสีเทาหรือส่วนสีขาวของไขสันหลัง มีลักษณะเป็นผนังหลอดเลือดคล้ายร่างแหที่ได้รับเลือดมาจาก internal carotid และ vertebral arteries
ช่องว่างที่สำคัญของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
.............. คือ ช่องว่างเหนือเยื่อดูรา ( epidural space ) ช่องว่างใต้ดูรา ( subdural space ) และช่องว่างใต้เยื่ออแรคนอยด์ (subarachnoid space) ซึ่งภายในจะมีน้ำหล่อเลี้ยงสมอง และไขสันหลังไหลเวียนอยู่รวมทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของสมอง
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ( cerebrospinal fluid )
.............. เป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งภายในโพรงกะโหลก เฉพาะส่วนที่ไหลเวียนภายในโพรงกะโหลกประมาณร้อยละ 10 ขององค์ประกอบภายในโพรงกะโหลก ปกติจะมีลักษณะใส ความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 1.003 - 1.008 ความดัน 80-180 มิลลิเมตรน้ำหรือ 0-15 มิลลิเมตรปรอท ในผู้ใหญ่มีประมาณ 90-150 มิลลิเมตร มีการสร้างตลอดเวลาประมาณวันละ 500- 750 มิลลิเมตร โดยใช้ choroid plexuses ที่ lateral ventricle เป็นส่วนใหญ่ และจะไหล่เวียนผ่าน foramen of Monro ไปยัง third ventricle และผ่านสู่ fourth ventricle ทาง aquiduct ไหลผ่าน foramen of luschka และ magendie ไปยังช่องว่างใต้เยื่ออแรคนอยด์ ( subarachnoid space ) ที่ห่อหุ้มสมองและไขสันหลัง การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง อาศัยการเคลื่อนไหวของร่างกาย ท่าทาง ตลอดจนการเต้นของหลอดเลือดแดงในสมองหรือจากการหายใจ
ระบบประสาทส่วนปลาย
( peripheral nervous system )
.............. ประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง ( cranial nerve ) และเส้นประสาทไขสันหลัง ( spinal nerve )
ประสาทสมอง ( cranial nerve )
.............. เป็นเส้นประสาทที่มีจุดกำเนิดจากบริเวณฐานของสมอง มีทั้งหมด 12 คู่ดังนี้
1. Olfactory nerve รับความรู้สึกด้านกลิ่น โดยมีเซลล์รับกลิ่นอยู่ที่เยื่อบุของโพรงจมูกส่วนบน
2. Optic nerve รับความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็น มีเซลล์รับภาพอยู่ที่ retina ของนัยน์ตา
3. Oculomotor nerve ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อภายนอกลูกตาทั้งหมดยกเว้น superior oblique และ lateral nerve เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตาชนิดใต้อำนาจจิตใจ
4. Trochlear nerve ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ superior oblique ของลูกตาทำให้มีการเคลื่อนไหว
5. Trigeminal nerve รับความรู้สึกจากบริเวณหน้า ศีรษะ ฟัน เกี่ยวกับความรู้สึกเจ็บปวด สัมผัส ร้อน เย็น และไปสู่เนื้อเยื่อตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงในปาก ฟัน ขากรรไกร และลิ้น ส่วนหน้าเพื่อควบคุมการเคี้ยว
6. Abducens nerve ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ lateral rectus ของลูกตา ทำให้ลูกตาเคลื่อนไหว
7. Facial nerve ไปเลี้ยงที่ลิ้นส่วนหน้าประมาณ 2/3 ทำให้รู้รสและควบคุมการหดและคลาย ตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าและศีรษะ ทำให้มีการเคลื่อนไหวแสดงสีหน้าต่างๆ
8. Acoustic หรือ Auditory หรือ vestibulocochlear nerve มี 2 แขนง คือ vestibular ควบคุมการทรงตัวและ cochlear ทำให้ได้ยินเสียง
9. Glossopharyngeal nerve ไปเลี้ยงที่ลิ้นส่วนหลังประมาณ 1/3 รับความรู้สึกจากลิ้นทำให้หลั่งน้ำลาย และทำให้กล้ามเนื้อของหลอดคอเคลื่อนไหว เกิดการกลืน
10. Vagus nerve ประกอบด้วยเส้นประสาทหลายเส้นไปสู่อวัยวะต่างๆเช่น ฟาริงซ์ ลาริงซ์ หลอดคอ หลอดลม อวัยวะในช่องอกและช่องท้อง ได้แก่ หัวใจ ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี เป็นต้น และทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ
11. Accessory nerve เลี้ยงกล้ามเนื้อ trapezius และ sternocleidimaltoid ทำให้ ศีรษะและไหล่มีการเคลื่อนไหว
12. Hypoglossal nerve ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของลิ้นทั้งหมด ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของลิ้น
ประสาทไขสันหลัง ( spinal nerve )
.............. เป็นเส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง มี 31 คู่ มีชื่อเรียกตามตำแหน่งของกระดูกสันหลังดังนี้
1. Cervical nerve เป็นเส้นประสาทของกระดูกสันหลังส่วนคอ มี 8 คู่ ไปเลี้ยงบริเวณด้านหลังของศีรษะ บริเวณคอ อกส่วนบน และเกือบทั้งหมดของแขน
2. Thoracic nerve เป็นเส้นประสาทของกระดูกสันหลังส่วนอก มี 12 คู่ ไปเลี้ยงบริเวณลำตัว ตั้งแต่อกส่วนบนถึงท้องน้อย รวมทั้งแขนด้านใน
3. Lumbar nerve เป็นเส้นประสาทของกระดูกสันหลังส่วนเอว มี 5 คู่ ไปเลี้ยงบริเวณขา หนีบ หน้าแข้ง และหลังเท้า
4. Sacral nerve เป็นเส้นประสาทของกระดูกกระเบนเหน็บ มี 5 คู่ ไปเลี้ยงบริเวณ สะโพก ขาด้านหลัง และเท้าด้านนอก
5. Coccygeal nerve เป็นเส้นประสาทของกระดูกก้นกบ มี 1 คู่ ไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ และทวารหนัก
ระบบประสาทอัตโนมัติ
( autonomic nervous system )
.............. ระบบประสาทชนิดนี้ศูนย์กลางอยู่ภายในไขสันหลัง แกนสมอง และฮัยโปธาลามัส ( hypothalamus ) จะทำงานเป็นอิสระอยู่นอกอำนาจจิตใจ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในของร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ ระบบประสาทอัตโนมัตินี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. ระบบประสาทซิมพาเตติก ( sympathetic nervous system ) จะเริ่มต้นจากไขสันหลังส่วนอกที่ 1 จนถึงกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ 2 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในไขสันหลัง ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์อยู่ใน lateral columm ของเนื้อสีเทาของไขสันหลังจากศูนย์กลางจะมีเส้นใยประสาท ( preganglionic fiber ) ไปสู่ปมประสาท คือ sympathetic ganglia ซึ่งจะอยู่ห่างจากอวัยวะที่ไปสู่ แต่จะมีเส้นทางประสาทแยกออกไปควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ดังกล่าว การเร้าประสาทซิมพาเตติกจะทำให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับเผชิญอันตรายหรือภาวะฉุกเฉิน
2. ระบบประสาทพาราซิมพาเตติก ( parasympathetic nervous system ) จะออกจากระบบประสาทส่วนกลาง โดยผ่านร่วมไปกับเส้นประสาทสมองบางเส้น และประสาทไขสันหลัง ส่วนกระเบนเหน็บ ( sacral ) ใยประสาทพาราซิมพาเตติกมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในเส้นประสาทเวกัส ( vagus nerve ) ซึ่งไปเลี้ยงบริเวณช่องอกและช่องท้อง เป็นระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการสะสมพลังงาน ควบคุมระดับการทำงานของอวัยวะภายใน หลอดเลือดส่วนต่างๆให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานได้
ตารางเปรียบเทียบผลของระบบประสาทซิมพาเตติกและพาราซิมพาเตติกต่ออวัยวะต่างๆ
เนื้อเยื่อและอวัยวะ
|
ประสาทซิมพาเตติก
|
ประสาทพาราซิมพาเตติก
|
1.หัวใจ
2.ม่านตา 3.หลอดลม 4.หลอดเลือด 5.ความดันโลหิต 6.ทางเดินอาหาร7.ต่อมเหงื่อ 8.อุณหภูมิร่างกาย 9.กระเพาะปัสสาวะ 10.มดลูก 11.ฮอร์โมน |
ต้นแรงและเร็ว
ขยาย ขยายตัว หดเล็กน้อย สูงขึ้น เคลื่อนไหวช้าและทำงานลดลง เหงื่อออกมาก เพิ่มขึ้น ยืดออก การบีบตัวลดลง ขับฮอร์โมนลดลง |
ต้นช้าและเบา
หดเล็ก หด ขยายเล็กน้อย ต่ำลง เคลื่อนไหวดีขึ้นและทำงานดีขึ้น เหงื่อออกน้อยลง ลดลง หดตัว การบีบตัวเพิ่มขึ้น ขับฮอร์โมนเพิ่มขึ้น |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น